ภารกิจ อำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลตาขีด
องค์การบริหารส่วนตำบลตาขีด ได้วิเคราะห์ภารกิจ อำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ รวมถึงที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๔๖ และตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.๒๕๔๒ และรวบรวมกฎหมายอื่นของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดย ใช้เทคนิค SWOT เข้ามาช่วย ทั้งนี้เพื่อให้ทราบว่าองค์การบริหารส่วนตำบลตาขีด มีอำนาจหน้าที่ที่จะเข้าไปดำเนินการแก้ไขปัญหาในเขตพื้นที่ให้ตรงกับความต้องการของประชาชนได้อย่างไร โดยวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส ปัญหาอุปสรรคหรือภาวะคุกคาม ในการดำเนินการตามภารกิจ องค์การบริหารส่วนตำบลตาขีด กำหนดวิธีการดำเนินการตามภารกิจให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนพัฒนาจังหวัด แผนพัฒนาอำเภอ แผนพัฒนาตำบล นโยบายของรัฐบาล และนโยบายของผู้บริหารท้องถิ่น ทั้งนี้สามารถวิเคราะห์ภารกิจให้ตรงกับสภาพปัญหา โดยสามารถกำหนดแบ่งภารกิจได้เป็น ๗ ด้าน ซึ่งภารกิจดังกล่าวถูกกำหนดอยู่ในพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.๒๕๓๗ รวมถึงที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๔๖ และตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.๒๕๔๒ ดังนี้
๕.๑ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน มีภารกิจที่เกี่ยวข้องดังนี้
(๑) การสร้างและบำรุงรักษาทางบกและทางน้ำที่เชื่อมต่อระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น
(๒) การสาธารณูปการ
(๓) การจัดให้มีและบำรุงรักษาทางน้ำและทางบก
(๔) การจัดให้มีและบำรุงรักษาทางระบายน้ำ
(๕) การจัดให้มีน้ำสะอาดหรือการประปา
(๖) การจัดให้มีน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตร
(๗) การจัดให้มีและบำรุงการไฟฟ้าหรือแสงสว่างโดยวิธีอื่น
ซึ่งการพัฒนา ด้านกายภาพเกี่ยวกับสาธารณูปโภค สาธารณูปการต่างๆ เพื่อยกระดับความเป็นอยู่และอำนวยความสะดวกในชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
๑) เพื่อดำเนินการก่อสร้าง ปรับปรุง พัฒนาถนน สะพาน ท่อระบายน้ำ ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล ให้เพียงพอและได้มาตรฐาน
๒) เพื่อดำเนินการก่อสร้าง ปรับปรุงและขยายเขตไฟฟ้าสาธารณะ ให้เพียงพอและทั่วถึง สามารถสร้างความปลอดภัยแก่ชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนได้
๓) เพื่อดำเนินการก่อสร้าง ปรับปรุงและขยายเขตประปาหมู่บ้านให้เพียงพอและทั่วถึง
๔) เพื่อส่งเสริมให้มีการจัดทำผังเมือง รองรับการขยายตัวของหมู่บ้านและชุมชนในอนาคต
ส่วนด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ เป็นการพัฒนาที่เน้นเรื่องแหล่งน้ำเพื่อการบริโภค - อุปโภค และเพื่อการเกษตร โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
๑) เพื่อเป็นการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการบริโภคได้แก่ สระ ประปา บ่อน้ำตื้น โอ่งน้ำ ถังเก็บน้ำสาธารณะเป็นต้น ให้เพียงพอและทั่วถึง
๒) เพื่อเป็นการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภค ได้แก่ บ่อบาดาล สระ ประปา เป็นต้นให้ให้เพียงพอและทั่วถึง
๓) เพื่อเป็นการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ได้แก่ เหมืองฝาย อ่างเก็บน้ำ ขุดลอกคูคลอง คลองส่งน้ำ เป็นต้น ให้เอื้ออำนวยต่อการประกอบอาชีพของเกษตรกรอย่างเพียงพอและทั่วถึง
๔) เพื่อเสริมสร้างจิตสำนึกการบำรุงรักษาแหล่งน้ำ การใช้น้ำอย่างประหยัด
๕) เพื่อสนับสนุนให้จัดตั้งองค์กร เครือข่ายกลุ่มผู้ใช้น้ำภายในท้องถิ่น
๕.๒ ด้านส่งเสริมคุณภาพชีวิต มีภารกิจที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
(๑) การจัดการศึกษา
(๒) การจัดให้มีโรงพยาบาลตำบล การรักษาพยาบาล การป้องกันและการควบคุมโรคติดต่อ
(๓) การป้องกัน การบำบัดโรค และการจัดตั้งและบำรุงสถานพยาบาล
(๔) การสังคมสงเคราะห์ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก สตรี คนชรา และผู้ด้อยโอกาส
(๕) การรักษาความสะอาดของถนน ทางเดิน และที่สาธารณะ
(๖) การจัดให้มีโรงฆ่าสัตว์
(๗) การจัดให้มีการส่งเสริมการพัฒนาสตรี เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ
(๘) การจัดให้มีสถานที่ประชุม การกีฬาการพักผ่อนหย่อนใจและสวนสาธารณะ
(๙) การปรับปรุงแหล่งชุมชนแออัดและการจัดการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย
(๑๐) การส่งเสริมประชาธิปไตย ความเสมอภาค และสิทธิเสรีภาพของประชาชน
(๑๑) การสาธารณสุข การอนามัยครอบครัวและการรักษาพยาบาล
มุ่งเน้นการพัฒนาคนและสังคม ซึ่งเป็นการพัฒนาเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและรวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
๑)เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาความรู้แก่ประชาชนในการดูแลสุขภาพ อนามัยด้วยตนเอง
๒) เพื่อปรับปรุงระบบการสาธารณสุขมูลฐานและการจัดการด้านสาธารณสุขขั้นพื้นฐานให้มีคุณภาพ
๓) เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาสังคม โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของยาเสพติดทุกชนิด
๔) เพื่อส่งเสริมบทบาทของชุมชนให้มีความเข้มแข็ง มีส่วนร่วมในการพัฒนาศักยภาพของตนเอง ครอบครัวและชุมชน
๕) เพื่อส่งเสริมการจัดการศึกษาในระบบและนอกระบบให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและได้มาตรฐาน รวมทั้งเตรียมความพร้อมกับการรองรับการถ่ายโอนอำนาจจากส่วนกลาง
๖) เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการจัด สวัสดิการและสังคมสงเคราะห์
๕.๓ ด้านการจัดระเบียบชุมชน สังคม และการรักษาความสงบเรียบร้อย มีภารกิจที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
(๑) การส่งเสริมประชาธิปไตย ความเสมอภาค และลัทธิเสรีภาพของประชาชน
(๒) การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
(๓) การจัดให้มีระบบความสงบเรียบร้อยในตำบล
(๔) การรักษาความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนในเขตสภาตำบล
(๕) การคุ้มครองดูแลและรักษาทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
(๖) การจัดการผังเมือง
(๗) การจัดให้มีที่จอดรถ
(๘) การรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง
(๙) การควบคุมอาคาร
มุ่งเน้นการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการพัฒนาเกี่ยวกับ การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การพัฒนา บริหารจัดการ สถานที่ในชุมชน ที่ว่างเปล่า ที่สาธารณะของหมู่บ้าน/ชุมชน และรวมถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
๑) เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาความรู้แก่ประชาชนในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
๒) เพื่อปรับปรุงระบบการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
๓) เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาสังคม โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของยาเสพติดทุกชนิด
๔) เพื่อการพัฒนา บริหารจัดการ สถานที่ในชุมชน ที่ว่างเปล่า ที่สาธารณะของหมู่บ้าน/ชุมชน
๕) เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
๖) เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
๕.๔ ด้านการวางแผน การส่งเสริมการลงทุน พาณิชยกรรมและการท่องเที่ยว มีภารกิจที่ เกี่ยวข้อง ดังนี้
๑) การจัดทำแผนพัฒนาตำบล และประสานการจัดทำแผนพัฒนาตำบลตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
๒) การส่งเสริมให้มีอุตสาหกรรมในครอบครัว
๓) การจัดให้มีและส่งเสริมกลุ่มเกษตรกร และกิจการสหกรณ์
๔) การจัดตั้งและดูแลตลาดกลาง
๕) การส่งเสริมการท่องเที่ยว
๖) การพาณิชย์การส่งเสริมการลงทุนและการทำกิจกรรมไม่ว่าจะดำเนินการเองหรือร่วมกับบุคคลอื่นหรือจากสหการ
การพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นการพัฒนาซึ่งครอบคลุมกิจกรรมโครงการด้านการประกอบอาชีพของประชาชนทั้งด้านการเกษตร อุตสาหกรรม และการบริการการท่องเที่ยว โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
๑) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนในความร่วมมือของทุกฝ่าย ให้เกิดความเข้มแข็ง เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวม
๒) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการพัฒนาทักษะการประกอบอาชีพ ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ในท้องถิ่นและตลาดอื่น ๆ
๓) เพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพและยกระดับรายได้
๔) เพื่อเป็นการส่งเสริมการตลาดชุมชน สินค้าพื้นเมือง
๕) เพื่อเป็นการสนับสนุนธุรกิจร้านค้าชุมชน กองทุน ธนาคารหมู่บ้าน
๖) เพื่อสนับสนุนกิจกรรมของกลุ่มอาชีพต่างๆ
๗) เพื่อส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและการท่องเที่ยวแบบศึกษาวิถีชีวิตชุมชน (Home Stay)
๘) เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการว่างงาน
๕.๕ ด้านการบริหารจัดการและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีภารกิจที่ เกี่ยวข้อง ดังนี้
(๑) การคุ้มครอง ดูแลและบำรุงรักษาป่าไม้ ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
(๒) การจัดตั้งและการดูแลระบบบำบัดน้ำเสียรวม
(๓) การกำจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลรวม
(๔) การกำจัดมูลฝอยและสิงปฏิกูล
(๕) การจัดการสิ่งแวดล้อมและมลพิษต่าง ๆ
(๖) การรักษาความสะอาดของถนน ทางน้ำ ทางเดิน และที่สาธารณะ
การพัฒนาสิ่งแวดล้อมและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เป็นการพัฒนาที่เน้นให้ครอบคลุมกิจกรรมที่เกี่ยวกับการบำรุงรักษาสิ่งแวดล้อมและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้เกิดความน่าอยู่และมีความยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
๑) เพื่อเสริมสร้างจิตสำนึกและพัฒนาความรู้ให้แก่ประชาชน ในเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
๒) เพื่อป้องกันการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
๓) เพื่อเสริมสร้างความรู้ให้คนในชุมชนรู้วิธี การจัดการมูลฝอย สิ่งปฏิกูล ให้ได้มาตรฐานถูกสุขลักษณะ
๔) เพื่อพัฒนาระบบสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่จะทำให้สภาพภูมิทัศน์ มีลักษณะสวยงาม เป็นท้องถิ่นที่น่าอยู่อาศัย
๕) เพื่อบำบัดและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ พัฒนาป่าชุมชน
๖) เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการอนุรักษ์ดิน แหล่งน้ำและป่าไม้ในท้องถิ่น
๗) เพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งกิจกรรมเกี่ยวกับการท่องเที่ยว
๕.๖ ด้านการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม จารีตประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่น มีภารกิจที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
(๑) การจัดการศึกษา
(๒) บำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น
(๓) การส่งเสริมการกีฬา จารีตประเพณี และวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น
(๔) การส่งเสริมการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม
(๕) การศึกษา การทำนุบำรุงศาสนา และการส่งเสริมวัฒนธรรม
การพัฒนาด้านการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นการสืบทอดเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ของชาวนครสวรรค์ และสนับสนุนการสร้างจริยธรรม คุณธรรมและวินัยของคนในท้องถิ่น รวมทั้งส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นให้แพร่หลายยิ่งขึ้น ซึ่งรวมไปถึงการพัฒนาการกีฬาและการนันทนาการที่มีความเกี่ยวเนื่องกันด้วย
๕.๗ ด้านการบริหารจัดการและการสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจของส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีภารกิจที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
(๑) สนับสนุนสภาตำบลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นในการพัฒนาท้องถิ่น สนับสนุน หรือช่วยเหลือส่วนราชการหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นในการพัฒนาท้องถิ่น
(๒) ประสานและให้ความร่วมมือในการปฏิบัติหน้าที่ของสภาตำบล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น
(๓) การแบ่งสรรเงินซึ่งตามกฎหมายจะต้องแบ่งให้แก่สภาตำบลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น
(๔) การให้บริการแก่เอกชน ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น
(๕) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ทางราชการมอบหมายโดยจัดสรรงบประมาณหรือบุคลากรให้ตามความจำเป็นและสมควร
(๖) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของราษฎร ในการพัฒนาท้องถิ่น
การพัฒนาการเมืองการบริหาร เป็นการพัฒนาความรู้ ความเข้าใจของประชาชนในการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย รวมถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารงานของ องค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อให้บริการแก่ประชาชน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
๑) เพื่อเป็นการเสริมสร้างและพัฒนาขีดความสามารถในการให้บริการแก่ประชาชน โดจัดการให้บริการทั้งในและนอกสำนักงาน รวมทั้งการอำนวยความสะดวกแก่ผู้มาติดต่องานต่างๆ รวมทั้งการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารต่างๆให้ประชาชนทราบ
๒)เพื่อปรับปรุงระบบบริหารจัดการขององค์การบริหารส่วนตำบลตาขีด ให้มีความโปร่งใสเป็นที่เชื่อถือศรัทธาของประชาชน
๓)เพื่อส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับกิจการขององค์การบริหารส่วนตำบลตาขีด และการบริหารการปกครอง ตามระบอบประชาธิปไตยให้แก่ประชาชน
๔)เพื่อพัฒนาบุคลากร ทั้งพนักงานส่วนตำบล สมาชิกสภา อบต. ให้มีความรู้ คุณธรรม และจริยธรรมในการปฏิบัติงาน
๕)เพื่อพัฒนารายได้ โดยการปรับปรุงแหล่งรายได้ วิธีการหารายได้ รวมทั้งระบบการจัดเก็บภาษี การทำกิจการพาณิชย์ขององค์การบริหารส่วนตำบล
๖)เพื่อจัดหาและปรับปรุงเครื่องมือเครื่องใช้และสถานที่ปฏิบัติงานให้เพียงพอ มีประสิทธิภาพ
ภารกิจทั้ง ๗ ด้าน ตามที่กฎหมายกำหนดให้อำนาจองค์การบริหารส่วนตำบลนั้น สามารถจะแก้ไขปัญหาขององค์การบริหารส่วนตำบลตาขีดได้เป็นอย่างดี มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยคำนึงถึงความต้องการของประชาชนในเขตพื้นที่เป็นหลัก ประกอบกับการดำเนินการขององค์การบริหารส่วนตำบลจะต้องสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนพัฒนาจังหวัด แผนพัฒนาอำเภอ แผนพัฒนาตำบล นโยบายของรัฐบาล และนโยบายของ ผู้บริหารขององค์การบริหารส่วนตำบลตาขีดเป็นสำคัญ